วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา


วันมาฆบูชา

ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส

วันมาฆบูชาเป็นวันที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานพระโอวาทสำคัญอันถือได้ว่าเป็นหัวใจของคำสอนในพระพุทธศาสนา คือ โอวาทปาฏิโมกข์ ในวันเพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เดือนสาม ดวงจันทร์โคจรมาเสวย
มาฆฤกษ์ แต่ถ้าปีใดมี อธิกมาส คือ เดือนแปดสองแปด วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันเพ็ญกลางเดือนสี่ เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นที่ พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ รัฐมคธ ในปีแรกของการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ คือ หลังจากตรัสรู้แล้วได้ ๙ เดือน ความประจวบกันพอดีของเหตุการณ์ในวันนี้ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่อัศจรรย์ มีสี่ประการคือ
ประการแรก เป็นการมาชุมนุมกันของพระสงฆ์สาวก จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เพื่อเฝ้าพระบรมศาสดา โดยมิได้นัดหมาย

ประการที่สอง พระสงฆ์สาวกดังกล่าวล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
ประการที่สาม พระสงฆ์สาวกดังกล่าวล้วนแต่ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา
ประการที่สี่ วันนั้นดวงจันทร์เพ็ญเสวยมาฆฤกษ์เต็มบริบูรณ์
ความพร้อมกันขององค์สี่ประการจึงเรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต
โอวาทปาฏิโมกข์ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นการประมวลคำสอนหลักของพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระสงฆ์สาวกนำไปประพฤติปฏิบัติ และนำไปสั่งสอนผู้อื่นในแนวทางเดียวกัน คือ

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
ขันติ คือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
ผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย
สมโณ โหติ ปรํ วิเหธยนฺโต
ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย
สพฺพปาปสฺส อกรณํ
การไม่ทำความชั่วทั้งปวง
กุสลสฺสุปสมฺปทา
การทำความดีให้ถึงพร้อม
สจิตฺต ปริโยทปนํ
การทำใจให้สะอาดบริสุทธิ์
เอตํ พุทฺธานสาสนํ
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธศาสนา
อนูปวาโท อนูปฆาโต
การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้าย
ปาติโมกฺเข จ สํวโร
การสำรวมในปาติโมกข์
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ
ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค
ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด
อธิ จิตฺเต จ อาโยโค
ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง
เอตํ พุทฺธานสาสนนฺติ
นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
มีข้อความในโอวาทปาฏิโมกข์ที่อาจจะจำเพาะเจาะจงสำหรับนักบวชหรือบรรพชิต และบางข้อก็นำไปประพฤติปฏิบัติได้ทั้งบรรพชิตและผู้ครองเรือน อย่างไรก็ตามข้อความในโอวาทปาฏิโมกข์ก็ได้แสดงถึง จุดหมายสูงสุด แห่งพระพุทธศาสนา คือ พระนิพพานดังนั้นพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า จึงควรศึกษาพระโอวาทปาฏิโมกข์ให้เข้าใจแจ่มแจ้ง แล้วน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติ ตามฐานะและกำลังความสามารถของตน จึงจะได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริง
วันวิสาขบูชา
 
 
ความหมาย คำว่า "วิสาขบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ วิสาขบูชา ย่อมาจาก " วิสาขปุรณมีบูชา " แปลว่า " การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ " ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน ๗
ความสำคัญ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ ได้ปรินิพพาน คือดับขันธ์ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง ๓ คราว คือ

๑. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เมื่อเช้าวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี

๒. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี หลังจากออกผนวชได้ ๖ ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย

๓. หลังจากตรัสรู้แล้ว ได้ประกาศพระศาสนา และโปรดเวไนยสัตว์ ๔๕ ปี พระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมือง กุสีนคระ) แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย

นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ที่เหตุการณ์ทั้ง ๓ เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเวลาหลายสิบปี บังเอิญเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน ๖ ดังนั้นเมื่อถึงวันสำคัญ เช่นนี้ ชาวพุทธทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิตได้พร้อมใจกันประกอบพิธีบูชาพระพุทธองค์เป็นการพิเศษ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ ของพระองค์ท่าน ผู้เป็นดวงประทีปของโลก
ประวัติความเป็นมาของวันวิสาขบูชาในประเทศไทย
วันวิสาขบูชานี้ ปรากฏตามหลักฐานว่า ได้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่า คงจะได้แบบอย่าง มาจากลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๔๒๐ พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่าง มโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ลังกาในรัชกาลต่อ ๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตาม แม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติอยู่
สมัยสุโขทัยนั้น ประเทศไทยกับประเทศลังกามีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาใกล้ชิดกันมากเพราะพระสงฆ์ชาวลังกา ได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย
ในหนังสือนางนพมาศได้กล่าวบรรยากาศการประกอบพิธีวิสาขบูชาสมัยสุโขทัยไว้ พอสรุปใจความได้ว่า " เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุก หมู่บ้านทุกตำบล ต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษ ด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นการอุทิศบูชาพระรัตนตรัย เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็น ก็เสด็จพระราช ดำเนิน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ต ลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ไปยังพระ อารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน
ส่วนชาวสุโขทัยชวนกันรักษาศีล ฟังธรรมเทศนา ถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารบิณฑบาต แด่พระภิกษุ สามเณรบริจาคทรัพย์แจกเป็นทานแก่คนยากจน คนกำพร้า คนอนาถา คนแก่ คนพิการ บางพวกก็ชวนกันสละทรัพย์ ปล่อยสัตว์ ๔ เท้า ๒ เท้า และเต่า ปลา เพื่อชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระ โดยเชื่อว่าจะทำให้คนอายุ ยืนยาวต่อไป "
ในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยอำนาจอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ เข้าครอบงำประชาชนคนไทย และมีอิทธิพลสูงกว่าอำนาจของพระพุทธศาสนา จึงไม่ปรากฎหลักฐานว่า ได้มีการประกอบพิธีบูชาในวันวิสาขบูชา จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๖๐) ทรงดำริกับ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟู การประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดย สมเด็จพระสังฆราช ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้น เป็นครั้งแรกในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ. ๒๓๖๐ และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อมีพระประสงค์ให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุ และอยู่เญ็นเป็นสุขปราศจากทุกข์โศกโรคภัย และอุปัทวันตรายต่างๆ โดยทั่วหน้ากัน
ฉะนั้น การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
การจัดงานเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกยุคทุกสมัย คงได้แก่การจัดงานเฉลิมฉลอง วันวิสาขบูชา พ.ศ.๒๕๐๐ ซึ่งทางราชการเรียกว่างาน " ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ " ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ถึง ๑๘ พฤษภาคม รวม ๗ วัน ได้จัดงานส่วนใหญ่ขึ้นที่ท้องสนามหลวง ส่วนสถานที่ราชการ และวัดอารามต่างๆ ประดับธงทิวและโคมไฟสว่างไสวไปทั่วพระ ราชอาณาจักร ประชาชนถือศีล ๕ หรือศีล ๘ ตามศรัทธาตลอดเวลา ๗ วัน มีการอุปสมบทพระภิกษุสงฆ์รวม ๒,๕๐๐ รูป ประชาชน งดการฆ่าสัตว์ และงดการดื่มสุรา ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ถึง ๑๔ พฤษภาคม รวม ๓ วัน มีการก่อสร้าง พุทธมณฑล จัดภัตตาหาร เลี้ยงพระภิกษุสงฆ์วันละ ๒,๕๐๐ รูป ตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารแก่ประชาชน วันละ ๒๐๐,๐๐๐ คน เป็นเวลา ๓ วัน ออกกฎหมาย สงวนสัตว์ป่าในบริเวณนั้น รวมถึงการฆ่าสัตว์ และจับสัตว์ในบริเวณวัด และหน้าวัดด้วย และได้มีการปฏิบัติธรรมอันยิ่งใหญ่ อย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นกรณีพิเศษ ในวันวิสาขบูชาปีนั้นด้วย

ห ลั ก ธ ร ร ม สำคั ญ ที่ ค ว ร นำ ม า ป ฏิ บั ติ
๑. ค ว า ม ก ตั ญ ญู
คือความรู้อุปการคุณที่มีผู้ทำไว่ก่อน เป็นคุณธรรมคู่กับความกตเวที คือ การตอบแทนอุปการคุณที่ผู้อื่นทำไว้นั้น
• บิดามารดา มีอุปการคุณแก่ลูก ในฐานะผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูจนเติบโต ให้การศึกษาอบรมสั่งสอน ให้เว้นจากความชั่ว มั่นคงในการทำความดี เมื่อถึงคราวมีคู่ครองได้จัดหาคู่ครองที่เหมาะสมให้ และมอบทรัพย์สมบัติให้ไว้เป็นมรดก
• ลูกเมื่อรู้อุปการะคุณที่บิดามารดาทำไว้ ย่อมตอบแทนด้วยการประพฤติตัวดี สร้างชื่อเสียงให้ แก่วงศ์ตระกูล เลี้ยงดูท่าน และช่วยทำงานของ ท่าน และเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่าน
• ครูอาจารย์มีอุปการคุณแก่ศิษย์ ในฐานะเป็นผู้ประสาทความรู้ให้ ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี สอนศิลปวิทยาให้อย่างไม่ปิดบังยกย่องให้ปรากฎแก่คนอื่น และช่วยคุ้มครองให้ศิษย์ทั้งหลาย
• ศิษย์เมื่อรู้อุปการคุณที่ครูอาจารย์ทำไว้ ย่อมตอบแทนด้วยการตั้งใจเรียน ให้เกียรติ และให้ความเคารพไม่ล่วงละเมิดโอวาทของครู
• ความกตัญญูและความกตเวทีนี้ ถือว่าเป็นเครื่องหมายของคนดี ส่งผลให้ครอบครัว และสังคมมีความสุขได้เพราะ บิดามารดาจะรู้จักหน้าที่ของตนเอง ด้วยการทำอุปการคุณให้ก่อน และลูกก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำดีตอบแทน
• นอกจากบิดากับลูก และครูอาจารย์กับศิษย์แล้ว คุณธรรมข้อนี้ก็สามารถนำไปใช้ได้แม้ระหว่าง นายจ้างกับลูกจ้าง อันจะส่งผลให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
• ในทางพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้า ทรงเป็นบุพการรีในฐานะที่ทรงสถาปนาพระพุทธศาสนา และทรงสอนทางพ้นทุกข์ให้แก่เวไนยสัตว์
• พุทธศาสนิกชน รู้พระคุณอันนี้จึงตอบแทนด้วยอามิสบูชาและปฎิบัติบูชากล่าวคือการจัดกิจกรรม ในวันวิสาขบูชา เป็นส่วนหนึ่งที่ชาวพุทธแสดงออก ซึ่งความกตัญญูกตเวที ต่อพระองค์ด้วยการทำนุ บำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนา และประพฤติปฎิบัติธรรม เพื่อดำรงอายุพระพุทธศาสนาสืบไป
๒. อ ริ ย สั จ ๔
อริยสัจ ๔ คือ ความจริงอันประเสริฐ หมายถึงความจริงของชีวิตที่ไม่ผันแปร เกิดมีได้แก่ทุกคน มี ๔ ประการ คือ
• ทุกข์ ได้แก่ปัญหาของชีวิตพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ก็เพื่อให้ทราบว่ามนุษย์ทุกคนมีทุกข์เหมือนกัน ทั้งทุกข์ขั้นพื้นฐาน และทุกข์เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ทุกข์ขั้นพื้นฐานคือทุกข์ที่เกิดจาก การเกิด การแก่ และการตาย ส่วนทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน คือทุกข์ที่เกิด จากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการประสบกันสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากไม่ได้ตั้งใจปรารถนา รวมทั้งทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ อาทิความ ยากจน
• สมุทัย คือ เหตุแห่งปัญหาพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ทั้งหมดซึ่งเป็นปัญหา ของชีวิตล้วนมีเหตุให้เกิดเหตุนั้น คือ ตัญหา อันได้แก่ความอยากได้ต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วยความยึดมั่น
• นิโรธ คือ การแก้ปัญหาได้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์คือปัญหาของชีวิต ทั้งหมดที่สามารถแก้ไข ได้นั้นต้องแก้ไขตามทางหรือวิธีแก้ ๘ ประการ ( ดูมัชฌิมาปฎิปทา )
• มรรค การปฏิบัติเพื่อจำกัดทุกข์ เพื่อหลุดพ้นจากทุกข์ การปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา เพื่อบรรลุเป้าหมายการแก้ปัญหาที่ต้องการ
๓. ค ว า ม ไ ม่ ป ร ะ ม า ท
ความไม่ประมาทคือ การมีสติเสมอทั้ง ขณะทำขณะพูด และขณะคิด สติคือการระลึกได้ ในภาคปฎิบัติเพื่อนำ มาใช้ในชีวิตประจำวัน หมายถึง การระลึกรู้ทันการเคลื่อนไหว ของอริยาบท ๔ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน การฝึกให้เกิดสติทำได้โดยตั้งสติกำหนดการเคลื่อนไหวของอริยาบท กล่าวคือ ระลึกทันทั้งในขณะ ยืน เดิน นั่ง และนอน รวมทั้ง ระลึกรู้ทัน ในขณะพูดคิด และขณะทำงานต่างๆ เมื่อทำได้อย่างนี้ก็ชื่อว่า มีความไม่ประมาท
การทำงานต่างๆ สำเร็จได้ก็ด้วยความไม่ประมาท กล่าวคือผู้ทำย่อมต้องมีสติระลึกรู้อยู่ว่า ตนเองเป็นใครมีหน้าที่อะไร และกำลังทำอย่างไร หากมีสติระลึกรู้ได้อย่างนั้น ก็ย่อมไม่ผิดพลาด

วันอาสาฬหบูชา
แสดงปฐมเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์
ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดง พระปฐมเทศนา หรือการแสดงพระธรรมครั้งแรก หลังจากที่ตรัสรู้ได้ ๒ เดือน เป็นวันที่เริ่มประดิษฐานพระพุทธศาสนาเนื่องจากมีองค์ประกอบของ พระรัตนตรัยครบถ้วนคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ในวันเพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เดือน ๘ ดวงจันทร์ เสวยมาฆฤกษ์
การแสดงพระปฐมเทศนา ได้ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบันคือสารนาถ เมืองพาราณสี พระธรรมที่แสดงคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เมื่อเทศนาจบ พระโกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ ผู้ประกอบด้วย พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานาม และพระอัสสชิ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม มีความเห็นแจ้งชัดดังนี้ว่า
ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ

เมื่อได้ดวงตาเห็นธรรมจึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ประทานอุปสมบทให้ ด้วยวิธีที่เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยกล่าวคำว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด พระโกณฑัญญะจึงเป็นพระปฐมสาวก พระอริยสงฆ์องค์แรก
 
พระปัญจวัคคีย์ ขอบรรพชา
 
ดวงตาเห็นธรรม ขออุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา
คำว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่าสูตรของการหมุนวงล้อแห่งพระธรรมให้เป็นไป มีความโดยย่อว่า
ที่สุด ๒ อย่างที่บรรพชิตไม่ควรประพฤติปฏิบัติคือ การประกอบตนให้อยู่ในความสุขด้วยกาม(กามสุขัลลิกานุโยค) ซึ่งเป็นธรรมอันเลวเป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์, ที่สุดอีกทางหนึ่งคือ การประกอบการทรมานตนให้เกิดความลำบาก(อัตตกิลมถานุโยค) ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
การดำเนินตามทางสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดทั้งสองอย่างนั้น เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาและญาณให้เกิด เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ และนิพพาน ทางสายกลาง ได้แก่ อริยมรรค มีองค์แปด คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ และตั้งใจหรือตั้งมั่นชอบ, อริยสัจสี่ คือความจริงอันประเสริฐที่พระองค์ค้นพบ มี ๔ ประการได้แก่
ความทุกข์ ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความได้พบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น ว่าโดยย่อ อุปาทานในขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
สาเหตุแห่งทุกข์(สมุทัย)ได้แก่ ตัณหาความทะยานอยาก อันทำให้เกิดอีกความกำหนัด เพลิดเพลินในอารมณ์ คือกามตัณหา ความทะยานอยากในกาม ภวตัณหา ความทะยานในภพ วิภวตัณหา ความทะยานอยากในความไม่มีภพ
ความดับทุกข์(นิโรธ)โดยการดับตัณหาด้วยอริยมรรค คือ วิราคะ สละ ดับ ปล่อยไป ไม่พัวพัน
หนทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์(มรรค)ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ ความเห็นชอบ๑ ความดำริชอบ๑ การเจรจาชอบ๑ การกระทำชอบ๑ การเลี้ยงชีพชอบ๑ ความพยายามชอบ๑ การระลึกชอบ๑ และการตั้งจิตมั่นชอบ๑
ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่พระองค์ว่า
นี้คือทุกข์(๑) อันควรกำหนดรู้ (๒) และพระองค์ได้กำหนดรู้แล้ว(๓)
นี้คือสาเหตุแห่งทุกข์(๔) อันควรละ(๕) และพระองค์ได้ละแล้ว(๖)
นี้คือความดับทุกข์(๗) อันควรทำให้แจ้ง(๘) และพระองค์ได้ทำให้แจ้งแล้ว(๙)
นี้คือหนทางดับทุกข์(๑๐) อันควรเจริญ(๑๑) และพระองค์ได้เจริญแล้ว(๑๒)
สรุปได้ว่า ปัญญาอันรู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริงในอริยสัจ ๔ มีรอบ ๓ จึงมีอาการ ๑๒ คือ
ขั้นแรก รู้ว่าอริยสัจแต่ละอย่างนั้นเป็นอย่างไร
ขั้นที่สอง รู้ว่าควรจะทำอย่างไรในอริยสัจแต่ละประการนั้น
และขั้นที่ ๓ พระองค์ได้ กระทำตามนั้นสำเร็จเสร็จแล้ว(รายละเอียดอยู่ในบทอริยสัจ ๔)
พระองค์ทรงเน้นว่า จากการที่พระองค์ทรงค้นพบ คือตรัสรู้อริยสัจ ๔ ประการนี้ การที่พระองค์ทรงกล้าปฏิญญา ว่าเป็นผู้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะพระองค์ได้รู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริง ในอริยสัจ ๔ มี รอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างหมดจดดีแล้ว
เมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกาศพระธรรมจักร ให้เป็นไปแล้ว ได้มีการบันลือต่อ ๆ กันไปให้ทราบทั่วกันว่า พระธรรมอันยอดเยี่ยมที่พระองค์ทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตเมืองพาราณสี อันใคร ๆ ในโลกจะปฏิวัติไม่ได้
วันอาสาฬหบูชามีเหตุการณ์สำคัญในทางพระพุทธศาสนาอยู่ ๓ ประการคือ
๑. เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา โดยทางแสดงพระปฐมเทศนา คือ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร ประกาศสัจธรรมอันเป็นองค์แห่งพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณที่พระองค์ตรัสรู้ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ สรรพสัตว์ทั้งหลาย
๒. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระอริยสงฆ์สาวกขึ้นในโลก คือ พระโกณฑัญญะ เมื่อได้ฟังพระปฐมเทศนาจบ ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้ทูลขออุปสมบท และพระพุทธเจ้าได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีเอหิภิกษุอุปสัมปทา ในวันนั้น
๓. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตน และพระสังฆรัตนะ ขึ้นในโลกอย่างสมบูรณ์บริบูรณ์
วันเข้าพรรษา

"เข้าพรรษา" แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่นๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เว้นแต่มีกิจธุระจำเป็นซึ่งเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืนเรียกว่า สัตตาหะ หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์ แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด ระหว่างเดินทางก่อนหยุดเข้าพรรษา หากพระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็พอจะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้ จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลาย ๆองค์ ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า "วิหาร" แปลว่าที่อยู่สงฆ์ เมื่อหมดแล้ว พระสงฆ์ท่านออกจาริกตามกิจของท่านครั้งถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีกเพราะสะดวกดี แต่บางท่านอยู่ประจำเลย บางทีเศรษฐีมีจิตศัรทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า "อาราม" ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้
โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฏฐบริขารอันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระท่านจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนต้นฤดูเปียกปอนมา ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน และถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษในเข้าพรรษานับเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญเนื่องในวันนี้สืบมา
การที่พระภิกษุสงฆ์ท่านโปรดสัตว์อยู่ประจำเป็นที่เช่นนี้ เป็นการดีสำหรับสาธุชนหลายประการ กล่าวคือ ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามพระพุทธบัญญัติก็นิยมบวชพระ ส่วนผู้ที่อายุยังไม่ครบบวชผู้ปกครองก็นำไปฝากพระ โดยบวชเป็นเณรบ้าง ถวายเป็นลูกศิษย์รับใช้ท่านบ้าง ท่านก็สั่งสอนธรรม และความรู้ให้ และโดยทั่วไป พุทธศาสนิกชนนิยมตักบาตรหรือไปทำบุญที่วัด นับว่าเป็นประโยชน์
การปฏิบัติตน ในวันนี้หรือก่อนวันนี้หนึ่งวัน พุทธศาสนิกชนมักจะจัดเครื่องสักการะเช่น ดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น มาถวายพระภิกษุ สามเณร ที่ตนเคารพนับถือ ที่สำคัญคือ มีประเพณีหล่อเทียนขนาดใหญ่เพื่อให้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์อยู่ได้ตลอด 3 เดือน มีการประกวดเทียนพรรษา โดยจัดเป็นขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ
แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ ทำบุญรักษาศีลและชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่นๆ พอถึง วันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมและรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้น อบายมุขต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น อนึ่ง บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลาน ของตนโดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้จะได้รับ อานิสงส์อย่างสูง
ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา เป็นประเพณีที่กระทำกันเมื่อใกล้ถึงฤดูเข้าพรรษาซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ พระภิกษุจะต้องอยู่ประจำวัดตลอด ๓ เดือนมาตั้งแต่โบราณกาล การหล่อเทียนเข้าพรรษานี้มีอยู่เป็นประจำ ทุกปี เพราะในระยะเข้าพรรษานี้ พระภิกษุจะต้องมีการสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้าเย็นและในการนี้จะต้องมีธูป เทียนจุดบูชาด้วย พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จึงพร้อมใจกันหล่อเทียนเข้าพรรษาสำหรับให้พระภิกษุจุดเป็น การกุศลทานอย่างหนึ่งเพราะเชื่อกันว่าในการให้ทานด้วยแสงสว่าง จะมีอานิสงฆ์เพิ่มพูนปัญญาหูตาสว่างไสว ตามชนบท การหล่อเทียนเข้าพรรษาทำกันอย่างเอิกเกริกสนุกสนานมาก เมื่อหล่อเสร็จแล้ว ก็จะมีการแห่แหน รอบพระอุโบสถ ๓ รอบ แล้วนำไปบูชาพระตลอดระยะเวลา ๓ เดือน บางแห่งก็มีการประกวดการตกแต่งมี การแห่แหนรอบเมืองด้วยริ้วขบวนที่สวยงามและถือว่าเป็นงานประจำปีทีเดียว ในวันนั้นจะมีการร่วมกันทำบุญตักบาตรถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ เป็นการร่วมกุศลกันในหมู่บ้านนั้น
กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเข้าพรรษา ๑. ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา
๒. ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่ภิษุสามเณร
๓. ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล
๔. อธิษฐาน งดเว้นอบายมุขต่างๆ


วันออกพรรษา


เสด็จกลับจากดาวดึงส์์

วันออกพรรษา ตรงกับวันเพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เดือน ๑๑ เป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์ออกจากจำพรรษา หรือการอยู่ประจำที่ตลอดฤดูฝน เป็นระยะเวลา ๓ เดือน ต่อจากวันนี้ไปพระภิกษุสงฆ์ก็สามารถจาริกไปในที่ต่าง ๆ และค้างแรมในที่อื่นได้
วันออกพรรษานี้มีการทำปวารณาในหมู่พระภิกษุสงฆ คือให้พระภิกษุสงฆ์ทำปวารณาแทนการทำอุโบสถ์สังฆกรรม ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน ต่างรูปต่างกล่าวคำปวารณาตามลำดับอาวุโส มีใจความว่า
สงฺฆมฺภนฺเต ปวาเรมิ ทิฏฺเฐน วา สุเตน วา ปริสงฺกาย วา วทนฺตุ มํ อายสฺมนฺโต อนุกมฺปํ อุปาทาย ปสฺสนฺโต ปฏิกฺกริสฺ สามิ ฯ
ข้าพเจ้าขอปวารณาต่อพระสงฆ์ด้วยได้ยินก็ดี ได้ฟังก็ดี สงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าว ข้าพเจ้า
เมื่อข้าพเจ้าสำนึกได้จักทำคืนเสีย แล้วจักสำรวมระวังต่อไป
(กล่าว ๓ ครั้ง)
ในวันออกพรรษาตามประวัติหรือตำนานกล่าวว่า เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากที่ได้เสด็จไปจำพรรษาและแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดาการเสด็จลงจากดาวดึงส์ครั้งนั้น ได้เสด็จลงมา ณ เมืองสังกัสสะ บรรดาพุทธศาสนิกชนจึงพากันไปตักบาตรแด่พระพุทธเจ้า เรียกว่า ตักบาตรเทโว คำเต็มคือ ตักบาตรเทโวโรหนะ คำว่าเทโวโรหนะ แปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก
วันธรรมสวนะ
วันพระ
นอกจากวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาดังกล่าวแล้ว ยังมีวันธรรมสวนะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันพระ” โดยนับ
วันขึ้น ๘ ค่ำ
แรม ๘ ค่ำ
วันขึ้น ๑๕ ค่ำ (วันเพ็ญ)
แรม ๑๕ ค่ำ (หากเดือนใดเป็นเดือนขาด ถือเอาวันแรม ๑๔ ค่ำ)
ของทุกเดือน เป็นวันที่ชาวพุทธมาบำเพ็ญกุศลให้กับตนเอง วันธรรมสวนะนี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาล ซึ่งถือเป็นวันบำเพ็ญกุศลของชาวพุทธทั่วไป
ในวันพระ พุทธศาสนิกชนถือเป็นวันสำคัญ ที่ควรไปวัดเพื่อทำบุญ ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ และฟังธรรม หรือถือศีล สำหรับผู้ที่เคร่งครัดในศาสนาอาจถือศีลแปดในวันพระด้วย นอกจากนี้ชาวพุทธยังถือว่าวันพระไม่ควรทำบาปใดๆ
วันโกน เป็นภาษาพูด หมายถึง วันก่อนวันพระ ๑ วัน
ประวัติความเป็นมา
ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสารได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลว่านักบวชศาสนาอื่น มีวันประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนาของเขา แต่ว่าศาสนาพุทธยังไม่มี พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาติให้ภิกษุสงฆ์ประชุมสนทนาและแสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชน ในวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ ดังกล่าว
พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็น วันธรรมสวนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น