วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา


วันมาฆบูชา

ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส

วันมาฆบูชาเป็นวันที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานพระโอวาทสำคัญอันถือได้ว่าเป็นหัวใจของคำสอนในพระพุทธศาสนา คือ โอวาทปาฏิโมกข์ ในวันเพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เดือนสาม ดวงจันทร์โคจรมาเสวย
มาฆฤกษ์ แต่ถ้าปีใดมี อธิกมาส คือ เดือนแปดสองแปด วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันเพ็ญกลางเดือนสี่ เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นที่ พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ รัฐมคธ ในปีแรกของการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ คือ หลังจากตรัสรู้แล้วได้ ๙ เดือน ความประจวบกันพอดีของเหตุการณ์ในวันนี้ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่อัศจรรย์ มีสี่ประการคือ
ประการแรก เป็นการมาชุมนุมกันของพระสงฆ์สาวก จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เพื่อเฝ้าพระบรมศาสดา โดยมิได้นัดหมาย

ประการที่สอง พระสงฆ์สาวกดังกล่าวล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
ประการที่สาม พระสงฆ์สาวกดังกล่าวล้วนแต่ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา
ประการที่สี่ วันนั้นดวงจันทร์เพ็ญเสวยมาฆฤกษ์เต็มบริบูรณ์
ความพร้อมกันขององค์สี่ประการจึงเรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต
โอวาทปาฏิโมกข์ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นการประมวลคำสอนหลักของพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระสงฆ์สาวกนำไปประพฤติปฏิบัติ และนำไปสั่งสอนผู้อื่นในแนวทางเดียวกัน คือ

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
ขันติ คือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
ผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย
สมโณ โหติ ปรํ วิเหธยนฺโต
ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย
สพฺพปาปสฺส อกรณํ
การไม่ทำความชั่วทั้งปวง
กุสลสฺสุปสมฺปทา
การทำความดีให้ถึงพร้อม
สจิตฺต ปริโยทปนํ
การทำใจให้สะอาดบริสุทธิ์
เอตํ พุทฺธานสาสนํ
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธศาสนา
อนูปวาโท อนูปฆาโต
การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้าย
ปาติโมกฺเข จ สํวโร
การสำรวมในปาติโมกข์
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ
ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค
ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด
อธิ จิตฺเต จ อาโยโค
ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง
เอตํ พุทฺธานสาสนนฺติ
นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
มีข้อความในโอวาทปาฏิโมกข์ที่อาจจะจำเพาะเจาะจงสำหรับนักบวชหรือบรรพชิต และบางข้อก็นำไปประพฤติปฏิบัติได้ทั้งบรรพชิตและผู้ครองเรือน อย่างไรก็ตามข้อความในโอวาทปาฏิโมกข์ก็ได้แสดงถึง จุดหมายสูงสุด แห่งพระพุทธศาสนา คือ พระนิพพานดังนั้นพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า จึงควรศึกษาพระโอวาทปาฏิโมกข์ให้เข้าใจแจ่มแจ้ง แล้วน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติ ตามฐานะและกำลังความสามารถของตน จึงจะได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริง
วันวิสาขบูชา
 
 
ความหมาย คำว่า "วิสาขบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ วิสาขบูชา ย่อมาจาก " วิสาขปุรณมีบูชา " แปลว่า " การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ " ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน ๗
ความสำคัญ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ ได้ปรินิพพาน คือดับขันธ์ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง ๓ คราว คือ

๑. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เมื่อเช้าวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี

๒. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี หลังจากออกผนวชได้ ๖ ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย

๓. หลังจากตรัสรู้แล้ว ได้ประกาศพระศาสนา และโปรดเวไนยสัตว์ ๔๕ ปี พระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมือง กุสีนคระ) แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย

นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ที่เหตุการณ์ทั้ง ๓ เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเวลาหลายสิบปี บังเอิญเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน ๖ ดังนั้นเมื่อถึงวันสำคัญ เช่นนี้ ชาวพุทธทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิตได้พร้อมใจกันประกอบพิธีบูชาพระพุทธองค์เป็นการพิเศษ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ ของพระองค์ท่าน ผู้เป็นดวงประทีปของโลก
ประวัติความเป็นมาของวันวิสาขบูชาในประเทศไทย
วันวิสาขบูชานี้ ปรากฏตามหลักฐานว่า ได้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่า คงจะได้แบบอย่าง มาจากลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๔๒๐ พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่าง มโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ลังกาในรัชกาลต่อ ๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตาม แม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติอยู่
สมัยสุโขทัยนั้น ประเทศไทยกับประเทศลังกามีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาใกล้ชิดกันมากเพราะพระสงฆ์ชาวลังกา ได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย
ในหนังสือนางนพมาศได้กล่าวบรรยากาศการประกอบพิธีวิสาขบูชาสมัยสุโขทัยไว้ พอสรุปใจความได้ว่า " เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุก หมู่บ้านทุกตำบล ต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษ ด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นการอุทิศบูชาพระรัตนตรัย เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็น ก็เสด็จพระราช ดำเนิน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ต ลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ไปยังพระ อารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน
ส่วนชาวสุโขทัยชวนกันรักษาศีล ฟังธรรมเทศนา ถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารบิณฑบาต แด่พระภิกษุ สามเณรบริจาคทรัพย์แจกเป็นทานแก่คนยากจน คนกำพร้า คนอนาถา คนแก่ คนพิการ บางพวกก็ชวนกันสละทรัพย์ ปล่อยสัตว์ ๔ เท้า ๒ เท้า และเต่า ปลา เพื่อชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระ โดยเชื่อว่าจะทำให้คนอายุ ยืนยาวต่อไป "
ในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยอำนาจอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ เข้าครอบงำประชาชนคนไทย และมีอิทธิพลสูงกว่าอำนาจของพระพุทธศาสนา จึงไม่ปรากฎหลักฐานว่า ได้มีการประกอบพิธีบูชาในวันวิสาขบูชา จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๖๐) ทรงดำริกับ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟู การประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดย สมเด็จพระสังฆราช ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้น เป็นครั้งแรกในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ. ๒๓๖๐ และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อมีพระประสงค์ให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุ และอยู่เญ็นเป็นสุขปราศจากทุกข์โศกโรคภัย และอุปัทวันตรายต่างๆ โดยทั่วหน้ากัน
ฉะนั้น การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
การจัดงานเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกยุคทุกสมัย คงได้แก่การจัดงานเฉลิมฉลอง วันวิสาขบูชา พ.ศ.๒๕๐๐ ซึ่งทางราชการเรียกว่างาน " ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ " ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ถึง ๑๘ พฤษภาคม รวม ๗ วัน ได้จัดงานส่วนใหญ่ขึ้นที่ท้องสนามหลวง ส่วนสถานที่ราชการ และวัดอารามต่างๆ ประดับธงทิวและโคมไฟสว่างไสวไปทั่วพระ ราชอาณาจักร ประชาชนถือศีล ๕ หรือศีล ๘ ตามศรัทธาตลอดเวลา ๗ วัน มีการอุปสมบทพระภิกษุสงฆ์รวม ๒,๕๐๐ รูป ประชาชน งดการฆ่าสัตว์ และงดการดื่มสุรา ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ถึง ๑๔ พฤษภาคม รวม ๓ วัน มีการก่อสร้าง พุทธมณฑล จัดภัตตาหาร เลี้ยงพระภิกษุสงฆ์วันละ ๒,๕๐๐ รูป ตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารแก่ประชาชน วันละ ๒๐๐,๐๐๐ คน เป็นเวลา ๓ วัน ออกกฎหมาย สงวนสัตว์ป่าในบริเวณนั้น รวมถึงการฆ่าสัตว์ และจับสัตว์ในบริเวณวัด และหน้าวัดด้วย และได้มีการปฏิบัติธรรมอันยิ่งใหญ่ อย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นกรณีพิเศษ ในวันวิสาขบูชาปีนั้นด้วย

ห ลั ก ธ ร ร ม สำคั ญ ที่ ค ว ร นำ ม า ป ฏิ บั ติ
๑. ค ว า ม ก ตั ญ ญู
คือความรู้อุปการคุณที่มีผู้ทำไว่ก่อน เป็นคุณธรรมคู่กับความกตเวที คือ การตอบแทนอุปการคุณที่ผู้อื่นทำไว้นั้น
• บิดามารดา มีอุปการคุณแก่ลูก ในฐานะผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูจนเติบโต ให้การศึกษาอบรมสั่งสอน ให้เว้นจากความชั่ว มั่นคงในการทำความดี เมื่อถึงคราวมีคู่ครองได้จัดหาคู่ครองที่เหมาะสมให้ และมอบทรัพย์สมบัติให้ไว้เป็นมรดก
• ลูกเมื่อรู้อุปการะคุณที่บิดามารดาทำไว้ ย่อมตอบแทนด้วยการประพฤติตัวดี สร้างชื่อเสียงให้ แก่วงศ์ตระกูล เลี้ยงดูท่าน และช่วยทำงานของ ท่าน และเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่าน
• ครูอาจารย์มีอุปการคุณแก่ศิษย์ ในฐานะเป็นผู้ประสาทความรู้ให้ ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี สอนศิลปวิทยาให้อย่างไม่ปิดบังยกย่องให้ปรากฎแก่คนอื่น และช่วยคุ้มครองให้ศิษย์ทั้งหลาย
• ศิษย์เมื่อรู้อุปการคุณที่ครูอาจารย์ทำไว้ ย่อมตอบแทนด้วยการตั้งใจเรียน ให้เกียรติ และให้ความเคารพไม่ล่วงละเมิดโอวาทของครู
• ความกตัญญูและความกตเวทีนี้ ถือว่าเป็นเครื่องหมายของคนดี ส่งผลให้ครอบครัว และสังคมมีความสุขได้เพราะ บิดามารดาจะรู้จักหน้าที่ของตนเอง ด้วยการทำอุปการคุณให้ก่อน และลูกก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำดีตอบแทน
• นอกจากบิดากับลูก และครูอาจารย์กับศิษย์แล้ว คุณธรรมข้อนี้ก็สามารถนำไปใช้ได้แม้ระหว่าง นายจ้างกับลูกจ้าง อันจะส่งผลให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
• ในทางพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้า ทรงเป็นบุพการรีในฐานะที่ทรงสถาปนาพระพุทธศาสนา และทรงสอนทางพ้นทุกข์ให้แก่เวไนยสัตว์
• พุทธศาสนิกชน รู้พระคุณอันนี้จึงตอบแทนด้วยอามิสบูชาและปฎิบัติบูชากล่าวคือการจัดกิจกรรม ในวันวิสาขบูชา เป็นส่วนหนึ่งที่ชาวพุทธแสดงออก ซึ่งความกตัญญูกตเวที ต่อพระองค์ด้วยการทำนุ บำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนา และประพฤติปฎิบัติธรรม เพื่อดำรงอายุพระพุทธศาสนาสืบไป
๒. อ ริ ย สั จ ๔
อริยสัจ ๔ คือ ความจริงอันประเสริฐ หมายถึงความจริงของชีวิตที่ไม่ผันแปร เกิดมีได้แก่ทุกคน มี ๔ ประการ คือ
• ทุกข์ ได้แก่ปัญหาของชีวิตพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ก็เพื่อให้ทราบว่ามนุษย์ทุกคนมีทุกข์เหมือนกัน ทั้งทุกข์ขั้นพื้นฐาน และทุกข์เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ทุกข์ขั้นพื้นฐานคือทุกข์ที่เกิดจาก การเกิด การแก่ และการตาย ส่วนทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน คือทุกข์ที่เกิด จากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการประสบกันสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากไม่ได้ตั้งใจปรารถนา รวมทั้งทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ อาทิความ ยากจน
• สมุทัย คือ เหตุแห่งปัญหาพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ทั้งหมดซึ่งเป็นปัญหา ของชีวิตล้วนมีเหตุให้เกิดเหตุนั้น คือ ตัญหา อันได้แก่ความอยากได้ต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วยความยึดมั่น
• นิโรธ คือ การแก้ปัญหาได้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์คือปัญหาของชีวิต ทั้งหมดที่สามารถแก้ไข ได้นั้นต้องแก้ไขตามทางหรือวิธีแก้ ๘ ประการ ( ดูมัชฌิมาปฎิปทา )
• มรรค การปฏิบัติเพื่อจำกัดทุกข์ เพื่อหลุดพ้นจากทุกข์ การปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา เพื่อบรรลุเป้าหมายการแก้ปัญหาที่ต้องการ
๓. ค ว า ม ไ ม่ ป ร ะ ม า ท
ความไม่ประมาทคือ การมีสติเสมอทั้ง ขณะทำขณะพูด และขณะคิด สติคือการระลึกได้ ในภาคปฎิบัติเพื่อนำ มาใช้ในชีวิตประจำวัน หมายถึง การระลึกรู้ทันการเคลื่อนไหว ของอริยาบท ๔ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน การฝึกให้เกิดสติทำได้โดยตั้งสติกำหนดการเคลื่อนไหวของอริยาบท กล่าวคือ ระลึกทันทั้งในขณะ ยืน เดิน นั่ง และนอน รวมทั้ง ระลึกรู้ทัน ในขณะพูดคิด และขณะทำงานต่างๆ เมื่อทำได้อย่างนี้ก็ชื่อว่า มีความไม่ประมาท
การทำงานต่างๆ สำเร็จได้ก็ด้วยความไม่ประมาท กล่าวคือผู้ทำย่อมต้องมีสติระลึกรู้อยู่ว่า ตนเองเป็นใครมีหน้าที่อะไร และกำลังทำอย่างไร หากมีสติระลึกรู้ได้อย่างนั้น ก็ย่อมไม่ผิดพลาด

วันอาสาฬหบูชา
แสดงปฐมเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์
ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดง พระปฐมเทศนา หรือการแสดงพระธรรมครั้งแรก หลังจากที่ตรัสรู้ได้ ๒ เดือน เป็นวันที่เริ่มประดิษฐานพระพุทธศาสนาเนื่องจากมีองค์ประกอบของ พระรัตนตรัยครบถ้วนคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ในวันเพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เดือน ๘ ดวงจันทร์ เสวยมาฆฤกษ์
การแสดงพระปฐมเทศนา ได้ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบันคือสารนาถ เมืองพาราณสี พระธรรมที่แสดงคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เมื่อเทศนาจบ พระโกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ ผู้ประกอบด้วย พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานาม และพระอัสสชิ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม มีความเห็นแจ้งชัดดังนี้ว่า
ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ

เมื่อได้ดวงตาเห็นธรรมจึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ประทานอุปสมบทให้ ด้วยวิธีที่เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยกล่าวคำว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด พระโกณฑัญญะจึงเป็นพระปฐมสาวก พระอริยสงฆ์องค์แรก
 
พระปัญจวัคคีย์ ขอบรรพชา
 
ดวงตาเห็นธรรม ขออุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา
คำว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่าสูตรของการหมุนวงล้อแห่งพระธรรมให้เป็นไป มีความโดยย่อว่า
ที่สุด ๒ อย่างที่บรรพชิตไม่ควรประพฤติปฏิบัติคือ การประกอบตนให้อยู่ในความสุขด้วยกาม(กามสุขัลลิกานุโยค) ซึ่งเป็นธรรมอันเลวเป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์, ที่สุดอีกทางหนึ่งคือ การประกอบการทรมานตนให้เกิดความลำบาก(อัตตกิลมถานุโยค) ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
การดำเนินตามทางสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดทั้งสองอย่างนั้น เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาและญาณให้เกิด เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ และนิพพาน ทางสายกลาง ได้แก่ อริยมรรค มีองค์แปด คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ และตั้งใจหรือตั้งมั่นชอบ, อริยสัจสี่ คือความจริงอันประเสริฐที่พระองค์ค้นพบ มี ๔ ประการได้แก่
ความทุกข์ ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความได้พบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น ว่าโดยย่อ อุปาทานในขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
สาเหตุแห่งทุกข์(สมุทัย)ได้แก่ ตัณหาความทะยานอยาก อันทำให้เกิดอีกความกำหนัด เพลิดเพลินในอารมณ์ คือกามตัณหา ความทะยานอยากในกาม ภวตัณหา ความทะยานในภพ วิภวตัณหา ความทะยานอยากในความไม่มีภพ
ความดับทุกข์(นิโรธ)โดยการดับตัณหาด้วยอริยมรรค คือ วิราคะ สละ ดับ ปล่อยไป ไม่พัวพัน
หนทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์(มรรค)ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ ความเห็นชอบ๑ ความดำริชอบ๑ การเจรจาชอบ๑ การกระทำชอบ๑ การเลี้ยงชีพชอบ๑ ความพยายามชอบ๑ การระลึกชอบ๑ และการตั้งจิตมั่นชอบ๑
ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่พระองค์ว่า
นี้คือทุกข์(๑) อันควรกำหนดรู้ (๒) และพระองค์ได้กำหนดรู้แล้ว(๓)
นี้คือสาเหตุแห่งทุกข์(๔) อันควรละ(๕) และพระองค์ได้ละแล้ว(๖)
นี้คือความดับทุกข์(๗) อันควรทำให้แจ้ง(๘) และพระองค์ได้ทำให้แจ้งแล้ว(๙)
นี้คือหนทางดับทุกข์(๑๐) อันควรเจริญ(๑๑) และพระองค์ได้เจริญแล้ว(๑๒)
สรุปได้ว่า ปัญญาอันรู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริงในอริยสัจ ๔ มีรอบ ๓ จึงมีอาการ ๑๒ คือ
ขั้นแรก รู้ว่าอริยสัจแต่ละอย่างนั้นเป็นอย่างไร
ขั้นที่สอง รู้ว่าควรจะทำอย่างไรในอริยสัจแต่ละประการนั้น
และขั้นที่ ๓ พระองค์ได้ กระทำตามนั้นสำเร็จเสร็จแล้ว(รายละเอียดอยู่ในบทอริยสัจ ๔)
พระองค์ทรงเน้นว่า จากการที่พระองค์ทรงค้นพบ คือตรัสรู้อริยสัจ ๔ ประการนี้ การที่พระองค์ทรงกล้าปฏิญญา ว่าเป็นผู้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะพระองค์ได้รู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริง ในอริยสัจ ๔ มี รอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างหมดจดดีแล้ว
เมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกาศพระธรรมจักร ให้เป็นไปแล้ว ได้มีการบันลือต่อ ๆ กันไปให้ทราบทั่วกันว่า พระธรรมอันยอดเยี่ยมที่พระองค์ทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตเมืองพาราณสี อันใคร ๆ ในโลกจะปฏิวัติไม่ได้
วันอาสาฬหบูชามีเหตุการณ์สำคัญในทางพระพุทธศาสนาอยู่ ๓ ประการคือ
๑. เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา โดยทางแสดงพระปฐมเทศนา คือ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร ประกาศสัจธรรมอันเป็นองค์แห่งพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณที่พระองค์ตรัสรู้ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ สรรพสัตว์ทั้งหลาย
๒. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระอริยสงฆ์สาวกขึ้นในโลก คือ พระโกณฑัญญะ เมื่อได้ฟังพระปฐมเทศนาจบ ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้ทูลขออุปสมบท และพระพุทธเจ้าได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีเอหิภิกษุอุปสัมปทา ในวันนั้น
๓. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตน และพระสังฆรัตนะ ขึ้นในโลกอย่างสมบูรณ์บริบูรณ์
วันเข้าพรรษา

"เข้าพรรษา" แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่นๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เว้นแต่มีกิจธุระจำเป็นซึ่งเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืนเรียกว่า สัตตาหะ หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์ แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด ระหว่างเดินทางก่อนหยุดเข้าพรรษา หากพระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็พอจะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้ จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลาย ๆองค์ ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า "วิหาร" แปลว่าที่อยู่สงฆ์ เมื่อหมดแล้ว พระสงฆ์ท่านออกจาริกตามกิจของท่านครั้งถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีกเพราะสะดวกดี แต่บางท่านอยู่ประจำเลย บางทีเศรษฐีมีจิตศัรทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า "อาราม" ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้
โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฏฐบริขารอันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระท่านจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนต้นฤดูเปียกปอนมา ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน และถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษในเข้าพรรษานับเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญเนื่องในวันนี้สืบมา
การที่พระภิกษุสงฆ์ท่านโปรดสัตว์อยู่ประจำเป็นที่เช่นนี้ เป็นการดีสำหรับสาธุชนหลายประการ กล่าวคือ ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามพระพุทธบัญญัติก็นิยมบวชพระ ส่วนผู้ที่อายุยังไม่ครบบวชผู้ปกครองก็นำไปฝากพระ โดยบวชเป็นเณรบ้าง ถวายเป็นลูกศิษย์รับใช้ท่านบ้าง ท่านก็สั่งสอนธรรม และความรู้ให้ และโดยทั่วไป พุทธศาสนิกชนนิยมตักบาตรหรือไปทำบุญที่วัด นับว่าเป็นประโยชน์
การปฏิบัติตน ในวันนี้หรือก่อนวันนี้หนึ่งวัน พุทธศาสนิกชนมักจะจัดเครื่องสักการะเช่น ดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น มาถวายพระภิกษุ สามเณร ที่ตนเคารพนับถือ ที่สำคัญคือ มีประเพณีหล่อเทียนขนาดใหญ่เพื่อให้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์อยู่ได้ตลอด 3 เดือน มีการประกวดเทียนพรรษา โดยจัดเป็นขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ
แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ ทำบุญรักษาศีลและชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่นๆ พอถึง วันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมและรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้น อบายมุขต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น อนึ่ง บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลาน ของตนโดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้จะได้รับ อานิสงส์อย่างสูง
ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา เป็นประเพณีที่กระทำกันเมื่อใกล้ถึงฤดูเข้าพรรษาซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ พระภิกษุจะต้องอยู่ประจำวัดตลอด ๓ เดือนมาตั้งแต่โบราณกาล การหล่อเทียนเข้าพรรษานี้มีอยู่เป็นประจำ ทุกปี เพราะในระยะเข้าพรรษานี้ พระภิกษุจะต้องมีการสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้าเย็นและในการนี้จะต้องมีธูป เทียนจุดบูชาด้วย พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จึงพร้อมใจกันหล่อเทียนเข้าพรรษาสำหรับให้พระภิกษุจุดเป็น การกุศลทานอย่างหนึ่งเพราะเชื่อกันว่าในการให้ทานด้วยแสงสว่าง จะมีอานิสงฆ์เพิ่มพูนปัญญาหูตาสว่างไสว ตามชนบท การหล่อเทียนเข้าพรรษาทำกันอย่างเอิกเกริกสนุกสนานมาก เมื่อหล่อเสร็จแล้ว ก็จะมีการแห่แหน รอบพระอุโบสถ ๓ รอบ แล้วนำไปบูชาพระตลอดระยะเวลา ๓ เดือน บางแห่งก็มีการประกวดการตกแต่งมี การแห่แหนรอบเมืองด้วยริ้วขบวนที่สวยงามและถือว่าเป็นงานประจำปีทีเดียว ในวันนั้นจะมีการร่วมกันทำบุญตักบาตรถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ เป็นการร่วมกุศลกันในหมู่บ้านนั้น
กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเข้าพรรษา ๑. ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา
๒. ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่ภิษุสามเณร
๓. ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล
๔. อธิษฐาน งดเว้นอบายมุขต่างๆ


วันออกพรรษา


เสด็จกลับจากดาวดึงส์์

วันออกพรรษา ตรงกับวันเพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เดือน ๑๑ เป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์ออกจากจำพรรษา หรือการอยู่ประจำที่ตลอดฤดูฝน เป็นระยะเวลา ๓ เดือน ต่อจากวันนี้ไปพระภิกษุสงฆ์ก็สามารถจาริกไปในที่ต่าง ๆ และค้างแรมในที่อื่นได้
วันออกพรรษานี้มีการทำปวารณาในหมู่พระภิกษุสงฆ คือให้พระภิกษุสงฆ์ทำปวารณาแทนการทำอุโบสถ์สังฆกรรม ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน ต่างรูปต่างกล่าวคำปวารณาตามลำดับอาวุโส มีใจความว่า
สงฺฆมฺภนฺเต ปวาเรมิ ทิฏฺเฐน วา สุเตน วา ปริสงฺกาย วา วทนฺตุ มํ อายสฺมนฺโต อนุกมฺปํ อุปาทาย ปสฺสนฺโต ปฏิกฺกริสฺ สามิ ฯ
ข้าพเจ้าขอปวารณาต่อพระสงฆ์ด้วยได้ยินก็ดี ได้ฟังก็ดี สงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าว ข้าพเจ้า
เมื่อข้าพเจ้าสำนึกได้จักทำคืนเสีย แล้วจักสำรวมระวังต่อไป
(กล่าว ๓ ครั้ง)
ในวันออกพรรษาตามประวัติหรือตำนานกล่าวว่า เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากที่ได้เสด็จไปจำพรรษาและแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดาการเสด็จลงจากดาวดึงส์ครั้งนั้น ได้เสด็จลงมา ณ เมืองสังกัสสะ บรรดาพุทธศาสนิกชนจึงพากันไปตักบาตรแด่พระพุทธเจ้า เรียกว่า ตักบาตรเทโว คำเต็มคือ ตักบาตรเทโวโรหนะ คำว่าเทโวโรหนะ แปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก
วันธรรมสวนะ
วันพระ
นอกจากวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาดังกล่าวแล้ว ยังมีวันธรรมสวนะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันพระ” โดยนับ
วันขึ้น ๘ ค่ำ
แรม ๘ ค่ำ
วันขึ้น ๑๕ ค่ำ (วันเพ็ญ)
แรม ๑๕ ค่ำ (หากเดือนใดเป็นเดือนขาด ถือเอาวันแรม ๑๔ ค่ำ)
ของทุกเดือน เป็นวันที่ชาวพุทธมาบำเพ็ญกุศลให้กับตนเอง วันธรรมสวนะนี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาล ซึ่งถือเป็นวันบำเพ็ญกุศลของชาวพุทธทั่วไป
ในวันพระ พุทธศาสนิกชนถือเป็นวันสำคัญ ที่ควรไปวัดเพื่อทำบุญ ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ และฟังธรรม หรือถือศีล สำหรับผู้ที่เคร่งครัดในศาสนาอาจถือศีลแปดในวันพระด้วย นอกจากนี้ชาวพุทธยังถือว่าวันพระไม่ควรทำบาปใดๆ
วันโกน เป็นภาษาพูด หมายถึง วันก่อนวันพระ ๑ วัน
ประวัติความเป็นมา
ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสารได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลว่านักบวชศาสนาอื่น มีวันประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนาของเขา แต่ว่าศาสนาพุทธยังไม่มี พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาติให้ภิกษุสงฆ์ประชุมสนทนาและแสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชน ในวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ ดังกล่าว
พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็น วันธรรมสวนะ

การละเล่นไทย

การละเล่นพื้นบ้าน



           ยุคนี้เป็นยุคแห่งเทคโนโลยีและการสื่อสารไปแล้วจริง ๆ เพราะไม่ว่ามองไปทางไหน ก็จะเห็นเด็กตัวเล็กตัวน้อย แชทบีบี ทวิตเตอร์ ฟังไอพอด เปิดคอมพิวเตอร์เล่นเกม เล่นเฟซบุ๊ก กันอย่างสนุกสนานซะแล้ว เรียกว่า ใช้เวลาอยู่แต่หน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวันทั้งคืน จนอาจทำให้เด็กรุ่นใหม่ ๆ ไม่เคยรู้จักและได้ยินการละเล่นพื้นบ้านของไทยไปเลยก็มี หรือหากใครที่รู้จัก และเคยเล่นการละเล่นพื้นบ้านมาแล้ว

         

เล่นซ่อนหา หรือ โป้งแปะ

"เล่นซ่อนหา" หรือ "โป้งแปะ" เป็นหนึ่งในการละเล่นพื้นบ้านที่มีมาช้านาน และยังได้รับความนิยมอยู่ทุกยุคทุกสมัย เพราะกติกาง่าย แถมสนุก และต้องมีการกำหนดอาณาเขต เพื่อไม่ให้กว้างจนเกินไป จนถึงวันนี้ก็ยังมีเด็ก ๆ จับกลุ่มกันเล่นซ่อนหาให้เห็นกันอยู่

โดยกติกาก็คือ คนที่เป็น "ผู้หา" ต้องปิดตา และให้เพื่อน ๆ ไปหลบหาที่ซ่อน โดยอาจจะนับเลขก็ได้ ส่วน "ผู้ซ่อน" ในสมัยก่อนจะต้องร้องว่า "ปิดตาไม่มิด สาระพิษเข้าตา พ่อแม่ทำนาได้ข้าวเม็ดเดียว" แล้วแยกย้ายกันไปซ่อน เมื่อ "ผู้หา" คาดคะเนว่าทุกคนซ่อนตัวหมดแล้ว จะร้องถามว่า "เอาหรือยัง" ซึ่งเมื่อ "ผู้ซ่อน" ตอบว่า "เอาล่ะ" "ผู้หา" ก็จะเปิดตาและหาเพื่อน ๆ ตามจุดต่าง ๆ เมื่อหาพบจะพูดว่า "โป้ง..(ตามด้วยชื่อผู้ที่พบ)" ซึ่งสามารถ "โป้ง" คนที่เห็นในระยะไกลได้ จากนั้น "ผู้หา" จะหาไปเรื่อย ๆ จนครบ ผู้ที่ถูกหาพบคนแรกจะต้องมาเปลี่ยนมาเป็น "ผู้หา" แทน แต่หากใครซ่อนเก่ง "ผู้หา" หาอย่างไรก็ไม่เจอสักที "ผู้ซ่อน" คนที่ยังไม่ถูกพบสามารถเข้ามาแตะตัว "ผู้หา" พร้อมกับร้องว่า "แปะ" เพื่อให้ "ผู้หา" เป็นต่ออีกรอบหนึ่งได้

ประโยชน์จากการเล่นซ่อนหา ก็คือ ฝึกให้เป็นคนช่างสังเกต สามารถจับทิศทางของเสียงได้ รวมทั้งรู้จักประเมินสถานที่ซ่อนตัว จึงฝึกความรอบคอบได้อีกทาง นอกจากนี้ยังทำให้ผู้เล่นสนุกสนาน อารมณ์แจ่มใจเบิกบานไปด้วย


หมากเก็บ

การละเล่นยอดฮิตสำหรับเด็กผู้หญิงนั่นเอง ปกติจะใช้ผู้เล่น 2-4 คน และใช้ก้อนกรวดกลม ๆ 5 ก้อนเป็นอุปกรณ์

กติกาก็คือ ต้องมีการเสี่ยงทายว่าใครจะได้เล่นก่อน โดยใช้วิธี "ขึ้นร้าน" คือแบมือถือหมากทั้ง 5 เม็ดไว้ แล้วโยนหมาก ก่อนจะหงายมือรับ แล้วพลิกมือกลับรับหมากอีกที ใครมีหมากอยู่บนมือมากที่สุด คนนั้นจะได้เป็นผู้เล่นก่อน

จากนั้นจะแบ่งการเล่นเป็น 5 หมาก โดยหมากที่ 1 ทอดหมากให้อยู่ห่าง ๆ กัน แล้วเลือกลูกนำไว้ 1 เม็ด ก่อนจะไล่เก็บหมากที่เหลือ โดยการโยนเม็ดนำขึ้น พร้อมเก็บหมากครั้งละเม็ด และต้องรับลูกที่โยนขึ้นให้ได้ ถ้ารับไม่ได้ถือว่า "ตาย" หรือถ้ามือไปถูกเม็ดอื่นก็ถือว่า "ตาย" เช่นกัน

ในหมากที่ 2 ก็ใช้วิธีการเดียวกัน แต่เก็บทีละ 2 เม็ด เช่นเดียวกับหมากที่ 3 ใช้เก็บทีละ 3 เม็ด ส่วนหมากที่ 4 จะไม่ทอดหมาก แต่จะใช้ "โปะ" คือถือหมากทั้งหมดไว้ในมือ โยนลูกนำขึ้นแล้วโปะเม็ดที่เหลือลงพื้น แล้วรวมทั้งหมดที่ถือไว้ "ขึ้นร้าน" ได้กี่เม็ดถือเป็นแต้มของผู้เล่นคนนั้น ถ้าไม่ได้ถือว่า "ตาย" แล้วให้คนอื่นเล่นต่อไป โดย "ตาย" หมากไหนก็เริ่มที่หมากนั้น ปกติการเล่นหมากเก็บจะกำหนดไว้ที่ 50-100 แต้ม ดังนั้นเมื่อแต้มใกล้ครบ เวลาขึ้นร้านต้องระวังไม่ให้แต้มเกิน ถ้าเกินต้องเริ่มต้นใหม่

อย่างไรก็ตาม ปกติแล้ว "หมากเก็บ" มีวิธีเล่นหลายอย่าง แต่ละอย่างก็จะมีชื่อเรียกต่างกันไป เช่น หมากพวง , หมากจุ๊บ ,อีกาเข้ารัง


รีรีข้าวสาร

เชื่อเลยว่า ชีวิตในวัยเด็กของคนส่วนใหญ่ผ่านการละเล่น "รีรีข้าวสาร" มาแล้ว และยังร้องบทร้องคุ้นหูที่ว่า "รีรี ข้าวสาร สองทะนานข้าวเปลือก เด็กน้อยตาเหลือก เลือกท้องใบลาน คดข้าวใส่จาน คอยพานคนข้างหลังไว" ได้ด้วย

กติกา รีรีข้าวสาร ก็คือ ต้องมีผู้เล่น 2 คนหันหน้าเข้าหากัน และเอามือประสานกันไว้เป็นรูปซุ้ม ส่วนผู้เล่นคนอื่น ๆ จะกี่คนก็ได้จะยืนเกาะเอวกันไว้ตามลำดับ หัวแถวจะพาขบวนลอดซุ้มพร้อมร้องเพลง "รีรีข้าวสาร" จนเมื่อถึงประโยคที่ว่า "คอยพานคนข้างหลังไว้" ผู้ที่ประสานมือเป็นซุ้มจะลดมือลงกันไม่ให้คนสุดท้ายผ่านเข้าไป เรียกว่า "คัดคน" และเล่นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนคนหมด

ประโยชน์ของการเล่นรีรีข้าวสาร ก็คือ ช่วยให้จิตใจร่าเริงแจ่มใส รู้จักมีไหวพริบ ใช้กลยุทธ์ให้ตัวเองเอาตัวรอดจากการถูกคล้องไว้ได้ รวมทั้งฝึกให้เด็กทำงานเป็นกลุ่มได้ด้วย


มอญซ่อนผ้า

การละเล่นแสนสนุกที่ทำให้ผู้เล่นได้ลุ้นไปด้วย โดยใช้อุปกรณ์เพียงแค่ผ้าผืนเดียวเท่านั้น แล้วให้ผู้เล่นเสี่ยงทาย ใครแพ้คนนั้นต้องเป็น "มอญ" ส่วนคนอื่น ๆ มานั่งล้อมวง คนที่เป็น "มอญ" จะต้องถือผ้าไว้ในมือแล้วเดินวนอยู่นอกวง จากนั้นคนนั่งในวงจะร้องเพลงว่า "มอญซ่อนผ้า ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง ไว้โน่นไว้นี่ ฉันจะตีก้นเธอ"

ระหว่างเพลงร้องอยู่ คนที่เป็น "มอญ" จะแอบทิ้งผ้าไว้ข้างหลังผู้เล่นคนใดคนหนึ่ง แต่เมื่อทิ้งผ้าแล้ว จะแกล้งทำเป็นยังไม่ทิ้ง โดยเดินวนไปอีก 1 รอบ หากผู้ที่ถูกทิ้งผ้าไม่รู้ตัว "มอญ" จะหยิบผ้ามาตีหลังผู้เล่นคนนั้น แล้วต้องกลายเป็น "มอญ" แทน แต่หากผู้เล่นรู้ตัวว่ามีผ้าอยู่ข้างหลัง ก็จะหยิบผ้ามาวิ่งไล่ตี "มอญ" รอบวง "มอญ" ต้องรีบกลับมานั่งแทนที่ผู้เล่นคนนั้น แล้วผู้ที่วิ่งไล่ต้องเปลี่ยนเป็น "มอญ" แทน


เดินกะลา

ดูจะเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่หาดูได้ไม่บ่อยนัก แต่หากเป็นสมัยก่อนจะเห็นเด็ก ๆ เดินกะลา กันทั่วไป โดยผู้เล่นจะต้องนำกะลามะพร้าว 2 อันมาทำความสะอาดแล้วเจาะรูตรงกลาง ร้อยเชือกให้แน่น เพื่อป้องกันไม่ให้เชือกหลุดเวลาเดิน เวลาเดินให้ใช้นิ้วหัวแม่เท้ากับนิ้วชี้คีบเชือกเอาไว้แล้วเดิน หากมีเด็ก ๆ หลายคนอาจจัดแข่ง เดินกะลา ได้ด้วยการกำหนดเส้นชัยไว้ใครเดินถึงก่อนก็เป็นผู้ชนะไป

ประโยชน์ของการ เดินกะลา ก็คือช่วยฝึกการทรงตัว ความสมดุลของร่างกาย เพราะต้องระวังไม่ให้ตกกะลา ช่วงแรก ๆ อาจจะรู้สึกเจ็บเท้า แต่ถ้าฝึกบ่อย ๆ จะชินและหายเจ็บไปเอง แถมยังทำให้ร่างกายแข็งแรง เพลิดเพลินอีกด้วย


กาฟักไข่

เป็นอีกหนึ่งการละเล่นที่เคยได้ยินชื่อ แต่หลายคนไม่ทราบกติกา โดยวิธีการเล่นก็คือ ใช้อะไรก็ได้ลักษณะกลม ๆ เท่าจำนวนคนเล่น ยกเว้นผู้ที่เป็นกา 1 คน มาสมมติว่าเป็น "ไข่" แล้วเขียนวงกลมลงบนพื้น 2 วง วงแรกเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 ฟุต และอีกวงหนึ่งอยู่ข้างในวงแรก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ฟุต วาง "ไข่" ทั้งหมดไว้ในวงกลมเล็ก ให้คนใดคนหนึ่งเป็นกา ยืนในวงกลมวงใหญ่ หรือนั่งคร่อมวงกลมเล็ก นอกนั้นทุกคนยืนรอบนอกวงกลมวงใหญ่ คอยแย่งไข่ คนเป็นกามีหน้าที่ป้องกันไข่ ไม่ให้ถูกแย่งไป

กติกาของ กาฟักไข่ ก็คือคนข้างนอกต้องแย่งไข่มาให้ได้ โดยใช้แขนหรือมือเอื้อมเข้าไป แต่ห้ามนำตัวเข้าไปในวงกลม และต้องระวังไม่ให้อีกาถูกมือหรือแขนได้ด้วย หากแย่งไข่ออกมาได้หมดแล้ว ให้ปิดตากา แล้วนำไข่ทั้งหมดไปซ่อน เพื่อให้กาตามหาไข่ หากพบไข่ที่ผู้เล่นคนใดนำไปซ่อน ผู้นั้นจะต้องเปลี่ยนมาเป็นกาแทน


งูกินหาง

"แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน..." ประโยคคุ้น ๆ ให้การเล่น งูกินหาง ที่ยังติดตรึงในความทรงจำของใครหลาย ๆ คน และเป็นที่นิยมของเด็กในทุกเทศกาล ทุกโอกาสอีกด้วย

วิธีการเล่นงูกินหาง เริ่มจากเสี่ยงทาย ใครแพ้ต้องไปเป็น "พ่องู" ส่วนผู้ชนะที่มีร่างกายแข็งแรง ตัวใหญ่จะเป็น "แม่งู" ไว้คอยปกป้องเพื่อน ๆ คนอื่นที่เป็น "ลูกงู" จากนั้น "ลูกงู" จะเกาะเอวแม่งูและต่อแถวกันไว้ ยืนเผชิญหน้ากับ "พ่องู" จากนั้นจะเข้าสู่บทร้อง โดยพ่องูจะถามว่า

พ่องู : "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน"

แม่งู : "กินน้ำบ่อโสกโยกไปโยกมา" (พร้อมแสดงอาการส่ายตัวไปมา)

พ่องู : "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน"

แม่งู : "กินน้ำบ่อหินบินไปบินมา" (พร้อมแสดงอาการบินไปบินมา)

พ่องู : "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน"

แม่งู : "กินน้ำบ่อทรายย้ายไปย้ายมา" (พร้อมแสดงอาการส่ายตัวไปมา)

จากนั้นพ่องูจะพูดว่า "กินหัวกินหางกินกลางตลอดตัว" แล้ววิ่งไล่จับลูกงูที่กอดเอวอยู่ ส่วนแม่งูก็ต้องป้องกันไม่ให้พ่องูจับลูกงูไปได้ เมื่อลูกงูคนไหนถูกจับ จะออกจากแถวมายืนอยู่ด้านนอก เพื่อรอเล่นรอบต่อไป หากพ่องูแย่งลูกได้หมด จะถือว่าจบเกมแล้วเริ่มเล่นใหม่ โดยพ่องูจะกลับไปเป็นแม่งูต่อในรอบต่อไป

ประโยชน์ของการเล่นงูกินหาง ก็คือ ทำให้ผู้เล่นเกิดความสามัคคี ทำงานเป็นกลุ่ม รู้จักช่วยเหลือกัน และรู้จักการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด เมื่อภัยมาถึงตัว นอกจากนี้ยังฝึกร่างกายให้แข็งแรง และจิตใจเบิกบานสนุกสนานไปด้วย


ม้าก้านกล้วย

เป็นอีกหนึ่งการละเล่นที่แสดงถึงความมีภูมิปัญญาของคนไทยทีเดียว เพราะในสมัยก่อนแทบทุกบ้านจะปลูกต้นกล้วยไว้ทั้งนั้น ดังนั้น ต้นกล้วยจึงนำมาประยุกต์เป็นของเล่นให้เด็ก ๆ ได้อย่างดีทีเดียว โดยเฉพาะ ม้าก้านกล้วย ดูเหมือนจะถูกอกถูกใจเด็กชายวัยซนมากที่สุด เพราะเด็ก ๆ จะนำก้านกล้วยมาขี่เป็นม้า เพื่อแข่งขันกัน หรือทำเป็นดาบรบกันก็ได้

วิธีทำม้าก้านกล้วย ก็ไม่ยาก เลือกตัดใบกล้วยออกมาแล้วเอามีดเลาะใบกล้วยออก แต่เหลือไว้ที่ปลายเล็กน้อยให้เป็นหางม้า เอามีดฝานแฉลบด้านข้างก้านกล้วยตรงโคนบาง ๆ เพื่อทำเป็นหูม้า แล้วหักก้านกล้วยตรงโคนหูม้าออก จากนั้นก็นำแขนงไม้ไผ่มาเสี้ยมปลายให้แหลม ความยาวประมาณคืบกว่า ๆ เสียบหัวม้าที่พับเอาไว้จนทะลุไปถึงก้าน เพื่อให้เป็นสายบังเหียนผูกปากกับคอม้านั่นเอง เสร็จแล้วก็นำเชือกกล้วยมาผูกด้านหัวม้าและหางม้า ทำเป็นสายสะพายบ่า แค่นี้ก็ได้ม้าก้านกล้วยไปสนุกกับเพื่อน ๆ แล้ว


ทอยเส้น

หากย้อนไปสักปี พ.ศ.2510-2530 ทอยเส้นจะเป็นที่นิยมกับเด็ก ๆ อย่างมาก โดยอุปกรณ์การเล่นจะใช้ตัวตุ๊กตุ่นพลาสติกหรือยาง ขนาดความสูง 4-5 เซนติเมตร (ที่แถมมากับขนมอบกรอบซึ่งฮิตมากในยุคนั้น) มาใช้ทอย และต้องมีพื้นถนนที่มีเส้นรอยต่อระหว่างบล็อก ระยะห่างประมาณ 3-5 เมตร หรือใช้การขีดลากเส้น 2 เส้นแทนก็ได้

วิธีการเล่นทอยเส้น คือต้องเสี่ยงหาคนทอยก่อน โดยใช้วิธีเป่ายิงฉุบ โอน้อยออก ฯลฯ แล้วแต่จะเลือก หรือจะทอยเปล่า เพื่อดูว่าใครใกล้-ไกลเส้นมากกว่า คนที่ไกลเส้นที่สุดจะต้องเริ่มทอยก่อน เพราะจะเสียเปรียบที่สุด ส่วนคนที่ทอยทีหลังจะได้เปรียบ เพราะเลือกหาทางหนีทีไล่ได้ดีกว่า

เมื่อกำหนดลำดับผู้เล่นแล้ว ให้ผู้เล่นยืนจรดเท้าอยู่เส้นแรก ห้ามล้ำเส้นออกไป แล้วใช้แขนเหวี่ยงตุ๊กตุ่นในมือออกไป ให้ตก หรือทับเส้นที่สอง เมื่อทอยครบทุกคน ให้เปรียบเทียบ ตุ๊กตุ่นของใครใกล้เส้นที่สุดเป็นผู้ชนะ จากนั้น ผู้ชนะจะยืนที่ตำแหน่งตุ๊กตุ่นของตัวเอง แล้วใช้ตุ๊กตุ่นของตัวเองเอื้อม หรือปาไปให้โดนตัวอื่นที่อยู่ห่างเส้นในลำดับถัดไป เพื่อจะได้กิน (ครอบครอง) ตุ๊กตุ่นตัวนั้นไว้ หากกินได้ ผู้เล่นคนอื่นจะถูกลงโทษตามตกลง เช่น ดีดมะกอก ฯลฯ เมื่อจบรอบแรก ก็หันหลังกลับ ยืนจรดเส้นที่สอง แล้วทอยกลับไปให้ใกล้เส้นแรกมากที่สุด ด้วยกติกาเช่นเดิม โดยดูแล้วมีลักษณะคล้ายการเล่นทอยเหรียญ หรือ Pitch and Toss ของต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม การเล่นทอยเส้น ไม่ค่อยได้รับความนิยมในช่วงหลัง ๆ เพราะเมื่อเด็กเติบโตขึ้นก็เปลี่ยนการใช้ตุ๊กตุ่นไปเป็นเงิน จนดูคล้ายเป็นการพนันไป


ว่าวไทย

เชื่อว่าหลายคน คงเคยมีประสบการณ์การเล่นว่าวในช่วงปิดเทอมที่ท้องสนามหลวงมาแล้ว แม้ว่าตอนนี้ภาพนั้นจะค่อย ๆ จางหายไปแล้วก็ตาม โดย "การเล่นว่าวไทย" นั้น เริ่มมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเรื่อยมา ตามที่ปรากฎหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และถือเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านและวัฒนธรรมของไทยได้อย่างดี เพราะแต่ละท้องถิ่นจะคิดประดิษฐ์ว่าวแตกต่างกันไป "ว่าวไทย" จึงกลายเป็นมรดกตกทอดของแต่ละชุมชนและมีลักษณะเฉพาะตัวที่โดดเด่น

โดย "ว่าว" มีหลายประเภท เช่น "ว่าวจุฬา" มีลักษณะเป็น 5 แฉก นิยมเล่นในภาคกลาง , "ว่าววงเดือน" หรือ "ว่าวบุหลัน" มักตกแต่งเป็นลวดลายเรือกอและ นิยมเล่นในภาคใต้ตอนล่าง นอกจากนี้ยังมี "ว่าวปักเป้า", "ว่าวงู" ฯลฯ

การเล่นว่าวนั้น เล่นได้ทั้งหน้าหนาวและหน้าร้อน โดยอาศัยกระแสลมเป็นตัวฉุดให้ว่าวลอยขึ้น โดยหากเป็นลมหน้าหนาว จะเป็นลมที่พัดจากผืนแผ่นดินลงสู่ทะเล ทำให้คนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมเล่นว่าวกันในช่วงนี้ ส่วนหน้าร้อน มีลมตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลพัดสู่ผืนแผ่นดินใหญ่ เรียกว่า "ลมตะเภา" ทำให้ชาวภาคกลาง ภาคตะวันตกและภาคใต้ นิยมเล่นว่าวในฤดูนี้

ส่วนวิธีการเล่นว่าวนั้น ส่วนใหญ่จะชักว่าวให้ลอยสูงติดลมบน เพื่อดูความสวยงามของว่าวรูปต่าง ๆ หรือฟังเสียงของว่าว นอกจากนี้ยังสามารถชักว่าวต่อสู้กันบนอากาศก็ได้

ยังมีอีกหลายการละเล่นที่เด็กไทยสมัยก่อนนิยมนำมาเล่นกัน เช่น ขี่ม้าส่งเมือง, ตี่จับ, โมราเรียกชื่อ, ลิงชิงหลัก, ตั้งเต, โพงพาง, ชักเย่อ ,กระต่ายขาเดียว, กระโดดยาง ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นภูมิปัญญาของคนไทย ที่สร้างสรรค์มรดกตกทอดทางวัฒนธรรมให้กับลูก ๆ หลาน ๆ ได้อย่างดีทีเดียว

ประเพณีสงกรานต์

ประเพณีสงกรานต์

สงกรานต์ (อังกฤษ: Water Festival ถอดเป็นอักษรละติน: Songkran เป็นประเพณีของประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกาและทางตะวันออกของประเทศอินเดีย[สงกรานต์เป็นคำสันสกฤต หมายถึงการเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี คือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

เดิมวันที่จัดเทศกาลกำหนดโดยการคำนวณทางดาราศาสตร์ แต่ปัจจุบันระบุแน่นอนว่า 13 ถึง 15 เมษายน วันขึ้นปีใหม่ไทยเป็นจุดเริ่มต้นของปีปฏิทินในประเทศไทยจนถึง พ.ศ. 2431 หลังจากนั้นวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่จนถึง พ.ศ. 2483
สงกรานต์สืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ คำว่าตรุษเป็นภาษาทมิฬ แปลว่าการสิ้นปี แต่ในปัจจุบันการเฉลิมฉลองในประเพณีสงกรานต์นั้นได้ละทิ้งความงดงามของประเพณีในสมัยโบราณไปเกือบหมดสิ้น คงไว้เพียงแต่ภาพลักษณ์แห่งความสนุกสนาน
พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ปัจจุบันมีพัฒนาการและมีแนวโน้มว่าได้มีการเสริมจนคลาดเคลื่อนบิดเบือนไป เกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น Water Festival หรือ สงครามน้ำ เป็นภาพของการใช้น้ำเพื่อแสดงความหมายเพียงประเพณีการเล่นน้ำ

ประเพณีแห่เทียนพรรษา

ประเพณีแห่เทียนพรรษา


กำเนิดเทียนพพรรษา       
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู นับถือวัวเพราะถือว่า วัวเป็นพาหนะของพระอิศวร เมื่อวัวตาย จะเอาไขจากวัวมาทำเป็นน้ำมันเพื่อจุดบูชาพระผู้เป็นเจ้าที่ตนเคารพ แต่ชาวพุทธซึ่งนับถือศาสนาพุทธจะทำเทียนเพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัย โดยการเอารังผึ้ง ร้างมาต้มเอาขี้ผึ้ง แล้วฟั่นเป็นเทียนเล่มเล็ก ๆ มีความยาวตามต้องการ เช่น ยาวเป็นคืบ หรือเป็น ศอกแล้วใช้จุดบูชาพระ

เทียนพรรษา เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ชาวพุทธจะยึดถือเป็นประเพณีนำเทียนไป ถวายพระภิกษุในเทศกาลเข้าพรรษา เพื่อปรารถนาให้ตนเองเป็นผู้เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ ประดุจ แสงสว่างของดวงเทียน

เทียนพรรษา คือ เทียนขนาดใหญ่และยาวเป็นพิเศษกว่าเทียนชนิดอื่น สำหรับจุดในโบสถ์ตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525)

คุณธรรมความเป็นครู

ความเป็นครู


ครู ซึ่งมาจากคำว่า คุรุ แปลว่า หนัก ฉะนั้นแล้ว ครู จึงเป็นผู้หนัก หนักในเรื่องใดบ้าง เช่น หนักในการที่จะสั่งสอนศิษย์ให้เป็นบุคคลที่มีความรู้ หนักในการที่จะสอนคนหลาย ๆ คนให้เป็นคนที่ดี เป็นบุคคลที่สังคมมีความต้องการ และการที่เราจะสามารถสอนคนเหล่านั้นได้เราจะต้องรู้เรื่องราวเกี่ยวกับบุคคล เหล่านั้นดีพอสมควร เราจึงจะสามารถสอนเขาได้ ซึ่งเข้ากับสุภาษิตจีนที่ว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” การสอนคนก็เช่นเดียวกัน การสอนก็เปรียบเสมือนกับการรบที่จะต้องมีการใช้ แรงกาย แรงใจ และกำลังสมองในการที่จะมาคิดกาวิธีทางที่จะเอาชนะข้าศึก ซึ่งก็เปรียบได้กับ ความไม่รู้หรือความเขลาในตัวศิษย์ และการเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติ เรื่องราว หรือพื้นเพของคนที่เราเรียกว่าศิษย์นั้นก็เป็นอีกกลยุทธหนึ่งที่จะเอาชนะ ความเขลา หรือข้าศึกในการรบได้
ความ หมายของครู กล่าวคือ ผู้ที่เป็นครูควรมีภาวะดังกล่าวอันได้แก่ ความรู้ ความประพฤติและคุณธรรม ไม่ว่าครูนั้นจะอยู่ ณ ที่ใด หน่วยงานไหน หรือซีกใดของโลก
อย่าง ไรก็ตาม ยังมีความหมายของครู อีกอย่างหนึ่งที่กำหนดโดยกฎหมายให้เป็น รูปแบบ แบ่งเป็นชั้นหรือระดับ สูงต่ำแตกต่างกัน และอาจเกิดสิ่งที่เรียกว่าเกียรติหรือศักดิ์ศรี แทรกซ้อนอยู่ในรูปแบบนั้นด้วย ซึ่งบางที อาจปิดกั้นไม่ให้มองเห็นความหมายตามเนื้อแท้ ก็ได้ ความหมายของครูที่กำหนดโดยกฎหมายนี้ อาจเรียกว่า "ความหมายของครูตามรูปแบบ"
ที่ ผู้เขียนใช้ข้อความนี้ เพราะเป็น ความหมายที่ไม่แน่นอนตลอดไป อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ตามความเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย ซึ่งขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการอีกทีหนึ่ง ถ้ากฎหมายกำหนดครูให้เป็นรูปแบบระดับใด ความหมายของครูก็จะเปลี่ยนไปตามรูปแบบระดับนั้น ๆ
ตัวอย่าง ความหมายของครูตามรูปแบบ จะเห็นได้จากกฎหมายบางฉบับ เช่น พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู พ.ศ. ๒๕๒๓ กำหนดรูปแบบของครูโดยเรียกว่า "ข้าราชการครู" ซึ่งมี ๓ กลุ่ม ได้แก่ ๑) กลุ่มที่มีหน้าที่เป็นผู้สอนในหน่วยงานทางการศึกษา ๒) กลุ่มที่มีหน้าที่เป็นผู้บริหารและให้การศึกษาใน หน่วยงานทางการศึกษา และ ๓) กลุ่มที่มี หน้าที่เกี่ยวกับการให้การศึกษาที่ไม่สังกัดโรงเรียน วิทยาลัย หรือสถานศึกษาที่เรียกชื่ออย่างอื่น ของกระทรวงศึกษาธิการ
เฉพาะกลุ่มที่ ๑ ซึ่งทำหน้าที่สอนเป็นหลัก ก็มีการแบ่งตำแหน่งเป็นระดับ ๆ ไปจากล่างขึ้นไปสูง คือ
๑. ครู ๑
๒. ครู ๒
๓. อาจารย์ ๑
๔. อาจารย์ ๒
๕. อาจารย์ ๓
๖. ผู้ช่วยศาสตราจารย์
๗. รองศาสตราจารย์
๘. ศาสตราจารย์
และบางตำแหน่งก็กำหนดให้มีได้ เฉพาะในบางหน่วยงาน คือตำแหน่งที่ ๖-๗-๘ จะมีได้เฉพาะในหน่วยงานที่มีการสอนถึง ระดับปริญญาเท่านั้น